สิ้นสุดการรอคอยกันแล้วนะคะ สำหรับ สถิติการใช้งานดิจิทัล (Digital) ของประเทศไทย ปี 2021 โดยสถิตินี้เกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ We Are Social และ Hootsuite ที่ทำการเก็บข้อมูลการใช้งานดิจิทัลของทั่วโลก โดยในบทความก่อนหน้านี้ Digital 2021 Global Overview Report ได้นำเสนอข้อมูลการใช้งาน Digital ภาพรวมของคนทั่วโลก ปีล่าสุด (2021) ไปแล้ว มาคราวนี้ถึงคิวของประเทศไทยของเราบ้าง มาดูกันว่า ในปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่ใช้งาน Digital ไปอย่างไร และทำให้สถิติการใช้งาน Social Media และ E-Commerce มีความผันผวนยังไง มาดูกันเลยค่ะ
จำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมด 69.88 ล้านคน โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นจากการเก็บข้อมูลของปีก่อนหน้า 0.2% ประกอบด้วยผู้หญิง 51.4% ผู้ชาย 48.6% ซึ่งอายุของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ 40.3 ปี
จากจำนวนประชากร 69.88 ล้านคน แบ่งเป็น
- กลุ่มอายุ 13 ปีขึ้นไป จำนวน 60.1 ล้านคน คิดเป็น 86%
- กลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 55.8 ล้านคน คิดเป็น 79.9%
- กลุ่มอายุ 16 – 64 ปี จำนวน 48.3 ล้านคน คิดเป็น 69.1%
คนไทยส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ยในการเข้าถึงสื่อบนอินเทอร์เน็ต 8 ชั่วโมง 44 นาทีต่อวัน โดยแบ่งเป็น การใช้เวลาดูทีวีผ่านสื่อออนไลน์ วันละ 3 ชั่วโมงครึ่ง ใช้เวลาเพื่อเล่น Social Media 2 ชั่วโมง 48 นาทีต่อวัน อ่านข่าวสารวันละ 2 ชั่วโมง 48 นาที ฟังเพลงออนไลน์ เฉลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 34 นาที ฟังวิทยุออนไลน์ 44 นาทีต่อวัน ฟัง Podcast เฉลี่ยวันละ 56 นาที และใช้เวลาในการเล่นเกม 1 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน โดยข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลจากคนที่มีอายุระหว่าง 16 – 64 ปี มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปีนี้คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยในการฟัง Podcast สูงกว่าฟังวิทยุออนไลน์ ซึ่งข้อมูลนี้ก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการเลือกทำ Content ได้ในอนาคต
คนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงเว็บไซต์ด้วยโทรศัพท์มือถือมากที่สุด คิดเป็น 60.2% เปิดดูเว็บไซต์ผ่านคอมพิวเตอร์ 37.4% ดูเว็บไซต์ผ่านแท็บเลต 2.3% ดังนั้นผู้พัฒนาเว็บไซต์อาจคำนึงการทดสอบการแสดงผลและการใช้งานเว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถือเป็นลำดับแรก เพื่อให้เว็บไซต์นั้นรองรับการเข้าถึงผ่านโทรศัพท์มือืถอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
Google Chrome ยังคงครองแชมป์เว็บบราวเซอร์ ที่มีการใช้งานเป็นอันดับ 1 ของคนไทย โดยมีสัดส่วนการใช้งานอยู่ที่ 72.6% และตามมาด้วย Safari ที่มีผู้ใช้งานอยู่ที่ 16.8% และในอันที่ 3 พบว่าเว็บบราวเซอร์ที่คนไทยใช้เข้าถึงเว็บไซต์ คือ Samsung Internet ที่มีจำนวนผู้ใช้งาน 3.2% ตามมาด้วยอันดับ 4 นั่นคือ FireFox ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีนั่นเอง โดยมีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 2.6%
เว็บไซต์ที่คนไทยเข้าใช้งานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ Google, Facebook และ Youtube โดยมีการใช้ข้อมูลจาก Data Analytics Tools จำนวน 3 Platform คือ SimilarWeb, Alexa และ SEMRush ซึ่งอันดับในการใช้งานจะแตกต่างกันไปในแต่ละ Platform โดยจากข้อมูลของ SimilarWeb พบว่า เว็บไซต์ 5 อันดับแรกที่มีการใช้งานสูงสุด ได้แก่ Google.com, Youtube.com, Facebook.com, Google.co.th และ Twitter.com ตามลำดับ
ส่วนเว็บไซต์ที่มีการเข้าถึงเยอะที่สุดจากข้อมูลของ Alexa พบว่า มีการเข้าถึง Google.com, Youtube.com, Google.co.th, Shopee.com และ Facebook.ac.th ตามลำดับ
และจากข้อมูลการเข้าถึงเว็บไซต์จาก SEMRush พบว่าเว็บไซต์ยอดนิยมที่คนไทยเข้าถึงมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ Google.com, Youtube.com, Facebook.com, Google.co.th และเว็บไซต์สัญชาติไทย นั่นคือ Pantip.com นั่นเอง
ซึ่งรายละเอียดของการเข้าถึงข้อมูลจาก SEMRush พบว่าการเข้าถึงเว็บไซต์ 5 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นการเข้าถึงผ่านคอมพิวเตอร์ มีเพียงเว็บไซต์ Pantip.com ที่พบว่าการเข้าถึงสูงที่สุดมาจากโทรศัพท์มือถือ และยังพบว่าเพศชายมีการถึงเว็บไซต์มากกว่าเพศหญิง โดยเว็บไซต์ทั้ง 5 อันดับแรก มีการเข้าถึงสูงที่สุดจากผู้ที่มีอายุระหว่าง 25 – 34 ปี
5 อันดับแรกของคำที่ถูกค้นหามากที่สุดบน Google ได้แก่คำว่า หนัง, แปล, หวย, ผลบอล และไม่ทิ้งกัน
จากสถิติพบว่า คนไทยใช้ Search Engine เพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการเยอะที่สุด คือ 99% นอกจากนั้นยังใช้ Social Media เป็นเครื่องมือในการค้นพบแบรนด์ใหม่ ๆ อยู่ที่ 55.5%
ประเภทของ Content บนออนไลน์ที่คนไทยใช้มากที่สุด คือการดูวิดีโอออนไลน์ โดยมีอัตราการดูสูงถึง 99% กันเลยทีเดียว รองลงมาคือการฟังเพลงออนไลน์, การดู VLOGS, การฟังวิทยุออนไลน์และ การฟัง Podcasts ออนไลน์ ตามลำดับ
ในส่วนของการใช้งาน Social Media ในปีนี้ ยังคงมีผู้ใช้งาน Social Media เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน เดี๋ยวเราไปดูกันว่า มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ Social Media ที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
มีคนไทยทั่วประเทศที่ใช้งาน Social Media ทั้งสิ้น 55 ล้านคน คิดเป็น 78.7% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยมีจำนวนผู้ใช้งาน Social Media คนไทยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 3 ล้านคน ซึ่งบวกเพิ่มจากเดิมถึง 5.8% กันเลยทีเดียว และมีการใช้งานผ่าน Social Media ผ่านโทรศัพท์มือถือ 54.62 ล้านคน
จากสถิติ พบว่าช่วงอายุ 3 อันดับแรกของประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการโฆษณาคนไทยบน Social Media สูงที่สุดคือคนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี อันดับรองลงมาคือคนที่มีช่วงอายุระหว่าง 18 – 24 ปี และ 35 – 44 ปี ตามลำดับ โดยมีจำนวนผู้ใช้งานที่เป็นผู้ชายและผู้หญิงใกล้เคียงกัน
ผู้ใช้งาน Social Media ทั้งหมดของไทย มีการพฤติกรรมใช้งานหรือเยี่ยมชมข้อมูลบน Social Media หรือใช้ Social Media ในการส่งข้อความ คิดเป็น 100% และยังคงมีจำนวนผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลและมีปฏิสัมพันธ์บน Social Media ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จำนวน 95.1% นอกจากนั้นยังพบว่า คนไทยใช้เวลาบน Social Media เฉลี่ย 2 ชั่วโมง 48 นาทีต่อวัน โดยมีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจคือ จำนวนคนไทยที่ใช้ Social Media เพื่อการทำงาน มีจำนวนสูงถึง 47% กันเลยทีเดียว
และในส่วนของ Social Media ยอดนิยม พบว่า Youtube ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่คนไทยใช้งานเยอะที่สุด จำนวน 94.2% และทำการโค่นแชมป์อย่าง Facebook ที่ครองอันดับ 1 ของ Social Media ยอดนิยมของคนไทยมาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (2018, 2019, 2020) ที่มีจำนวนผู้ใช้ จำนวน 93.3% จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ใช้งานมีเปอร์เซ็นของผู้ใช้งานที่มีเปอร์เซ็นต่างกันนิดเดียวเท่านั้น และพบว่ามีจำนวนผู้ใช้งาน LINE ตามมาเป็นอันดับ 3 มีผู้ใช้งานคิดเป็น 86.2% ผู้ใช้งาน Facebook Messenger จำนวน 77.1% และผู้ใช้งาน Instagram จำนวน 64.2% ตามมาเป็นอันดับ 4 และอันดับ 5 ตามลำดับ
ในส่วนของภาพรวมของประชากรบน Facebook พบว่าจำนวนของประชากรที่ Facebook สามารถเข้าถึงได้มีทั้งสิ้น 51 ล้านคน (อายุ 13 ปีขึ้น) แบ่งสัดส่วนเป็นผู้ชายจำนวน 51% และประชากรผู้หญิง จำนวน 49%
โทรศัพท์มือถือ คืออุปกรณ์ที่คนไทยใช้เข้าถึง Facebook มากที่สุดถึง 99.3% และมีการเข้าถึงผ่านคอมพิวเตอร์รองลงมา คิดเป็น 0.7%
กิจกรรมที่คนไทยทำบน Facebook เยอะที่สุด คือการคลิกโฆษณาที่แสดงผลบน Facebook ตามมาด้วย การคลิก Like บนโพสต์, การคอมเมนท์ ตามลำดับ
จากข้อมูลพบว่า ภาพรวมของประเภทของ Content บน Facebook Fanpage ที่มีการปฏิสัมพันธ์ (Engagement) จากผู้ใช้งาน มีจำนวน 0.11% ของประเภทของ Content ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น Engagement ที่เกิดกับ Content ที่เป็นรูปภาพ จำนวน 0.20% ตามมาด้วย Content ที่เป็น Status Post จำนวน 0.11% ตามมาด้วย Video Content ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.07% และ Content ประเภท Link มีสัดส่วนของ Engagement อยู่ที่ 0.03% ดังนั้นจากสถิติในการสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับ Facebook Fanpage จะพบว่าการโพสต์ Link บน Facebook Fanpage ทำให้เกิด Engagement น้อยที่สุด และ การโพสต์ รูปภาพ ทำให้เกิด Engagement บน Facebook Fanpage มากที่สุด
เรามาดูข้อมูลของ Youtube กันบ้าง ว่ามีข้อมูลไหนที่น่าสนใจ เริ่มกันที่ภาพรวมของประชากรบน Youtube พบว่า จำนวนประชากรบน Youtube มีทั้งสิ้น 37.3 ล้านคน มีจำนวนของกลุ่มประชากรที่โฆษณาบน Youtube สามารถเข้าถึงได้ คิดเป็น 54.3% (มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป) แบ่งเป็นผู้ชาย 47.5% และผู้หญิง 52.5%
ในส่วนของคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหาบน Youtube พบว่า 5 อันดับแรกของคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหาใน Youtube ได้แก่คีย์เวิร์ด เพลง, หนัง, ผี, การ์ตูน และเก่า ตามลำดับ
ประชากรที่เป็นคนไทยบน Instagram มีจำนวนทั้งสิ้น 16 ล้านคน (อายุ 13 ปีขึ้นไป) โดยคิดเป็นจำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงโฆษณาได้ จำนวน 26.6% ของจำนวนประชากรบน IG ทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ชาย 38.3% และผู้หญิง 61.7%
ในส่วนของ Facebook Messenger พบว่ามีประชากรที่ใช้งานทั้งสิ้น 37 ล้านคน (อายุ 13 ปีขึ้น) มีประชากรที่สามารถเข้าถึงโฆษณาได้ 61.6% เป็นประชากรผู้ชาย 48.6% ผู้หญิง 51.4%
จำนวนประชากรไทยบน Twitter มีจำนวนทั้งสิ้น 7.35 ล้านคน (อายุ 13 ปีขึ้นไป) โดยมีประชากรที่เข้าถึงโฆษณาได้ คิดเป็น 12.2% ของจำนวนประชากรคนไทยบน Twitter เป็นผู้ชาย 57.7% และผู้หญิง 42.3%
ในส่วนของสถิติในการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น พบว่ามีการใช้โทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตจำนวน 90.66 ล้านคน (ไม่รวมอุปกรณ์ IoT) ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เรามาดูไปพร้อมกันเลย
อัตราส่วนของระบบปฏิบัติการบนมือถือ (Mobile OS) ที่ใช้ในการเข้าถึงเว็บไซต์ พบว่า คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือ Androids ในการเข้าถึงเว็บเยอะที่สุด คิดเป็น 74.8% ตามมาด้วย iOS จำนวน 25% และ Samsung OS จำนวน 0.1% แต่ถึงแม้ว่าจะมีการเข้าเว็บไซต์ผ่าน Samsung OS ด้วยอัตราเปอร์เซ็นที่ไม่สูงมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ อัตราการเติบโตของผู้ใช้ Samsung OS มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 117% กันเลยทีเดียว คงต้องมาลุ้นกันว่าในปีถัดไป Samsung OS จะมีฐานของผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น มาก/น้อย เท่าไร
Mobile App ที่คนไทยใช้งานสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ Facebook, LINE, Facebook Messenger, Lazada และ Shopee ตามลำดับ
ส่วน Mobile App ที่คนไทยดาวน์โหลดมาใช้งานมากที่สุด ได้แก่ TikTok ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีการโหลด Mobile App เพื่อใช้งานเพื่อความบันเทิงมากขึ้น และด้วยรูปแบบของ TikTok ช่วยให้สามารถสร้าง Video Content ได้แบบง่าย ไม่มีความซับซ้อน จึงทำให้เป็นที่นิยมได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ส่วนอันดับของ Mobile App ที่มีการดาวน์โหลดในลำดับถัด ๆ มา ได้แก่ Facebook, Facebook Messenger, LINE และ Shopee ตามลำดับ
ในส่วนของสถิติที่น่าสนใจอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ สถิตการใช้งาน E-Commerce ในประเทศไทย เดี๋ยวเราไปดูกัน ว่ามีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ไหนที่น่าสนใจกันบ้าง
ภาพรวมของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ พบว่าคนไทย 88.1% ค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการ และมีจำนวน 84.9% ที่เข้าไปที่เว็บไซต์ของร้านค้าหรือไปที่ร้านค้า และสัดส่วนของคนไทยที่ซื้อสินค้าออนไลน์จากอุปกรณ์ทั้งหมด มีทั้งสิ้น 83.6% โดยมีการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ คิดเป็น 74.2% นอกจากนั้นยังมีสถิติของการใช้ Application เพื่อช้อปปิ้งผ่านโทรศัพท์มือถือและแท็บเลต อยู่ที่ 83.4%
กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุดในประเทศไทย คือคนที่มีอายุระหว่าง 45 – 54 ปี โดยมีอัตราการซื้อสินค้าสูงถึง 86.6% ตามมาด้วยกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 16 – 24 ปี มีการสัดส่วนในการซื้อสินค้าอยู่ที่ 84.8% อันดับถัดมาคือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 35 – 44 ปี, ช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี และ ช่วงอายุ 55 – 64 ปี โดยมีอัตราส่วนในการซื้อสินค้าออนไลน์ อยู่ที่ 84.2%, 83.3% และ 71.7% ตามลำดับ
หมวดหมู่ของสินค้าหรือบริการที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุดของประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มของการท่องเที่ยวและที่พัก โดยมีสัดส่วนของมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 3,380 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ อันดับของหมวดหมู่ที่มีการใช้จ่ายรองลงมาคือ สินค้าในหมวดหมู่อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 2,400 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และ หมวดหมู่อันดับสามที่มีการใช้จ่ายสูงสุดของประเทศไทยคือ สินค้าในกลุ่มของอาหารและของใช้ส่วนตัว ที่มีมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 2,340 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
ถึงแม้ว่ากลุ่มของการท่องเที่ยวและที่พักจะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงที่สุด แต่ในส่วนของอัตราการเติบโตนั้น พบว่า สินค้าในกลุ่มท่องเที่ยวและที่พักกลับมีอัตราการเติบโต ติดลบสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามความคาดหมาย ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและให้บริการด้านที่พักได้รับผลกระทบโดยตรง โดยอัตราการเติบโตของมูลค่าการใช้จ่ายที่น้อยที่สุดของหมวดหมู่สินค้าในกลุ่มการท่องเที่ยวและที่พัก มีสัดส่วนการเติบโตอยู่ที่ -43.4% และทางตรงกันข้ามกัน หมวดหมู่ของสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประเทศไทย คือสินค้าในกลุ่มของ อาหารและของใช้ส่วนตัว ที่มีสัดส่วนการเติบโตสูงสุดที่ 74.3% ตามมาด้วยสินค้าในกลุ่มของ ของเล่น ผลิตภัณฑ์ DIV และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรก ที่มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 42.4% โดยกลุ่มของสินค้าที่มีมูลค่าการเติบโตเป็นลำดับถัดมา คือสินค้าในกลุ่มของเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ที่มีมูลค่าการเติบโตอยู่ที่ 37%
ในส่วนของคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหาสินค้าและบริการในหมวดหมู่ Shopping ของ google พบว่า 5 อันดับแรกของคีย์เวิร์ดที่คนไทยนิยมใช้ในการค้นหาสินค้าและบริการผ่าน Google Shopping สูงที่สุด ได้แก่ กระเป๋า, โทรศัพท์, OPPO, แปล และ Samsung ตามลำดับ
ทางด้าน Digital Marketing ของประเทศไทยนั้น ยังคงมีสถิติที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้ค้นพบแบรนด์ใหม่ อันดับของช่องทางในการค้นหาแบรนด์ หรือมูลค่าของตลาดในการโฆษณาออนไลน์ ลองไปติดตามกันว่าปีนี้สถิติของประเทศไทยมีแนวทางเป็นอย่างไร
คนไทยรู้จักแบรนด์ใหม่ ๆ จากการค้นหาผ่าน Search Engine เป็นอันดับแรก โดยมีสัดส่วนการค้นพบแบรนด์ใหม่บน Search Engine อยู่ที่ 40.5% นอกจากนั้นสิ่งที่ทำให้รู้จักแบรนด์ใหม่ ๆ เป็นลำดับถัดมาคือโฆษณาที่ออนแอร์อยู่บนโทรทัศน์ มีสัดส่วนอยู่ที่ 36.1% ตามมาด้วยเว็บไซต์ที่เปรียบเทียบสินค้าและบริการ มีอัตราส่วนอยู่ที่ 35.8% และค้นพบแบรนด์ใหม่ ๆ จากโฆษณาบน Social Media และ โฆษณาที่แสดงผลใน Mobile App หรือ Tablet App โดยมีสัดส่วนการค้นพบอยู่ที่ 34.3% และ 33.5% ตามลำดับ
5 อันดับแรกของช่องทางที่คนไทยใช้ในการค้นหาแบรนด์ต่าง ๆ ได้แก่ การค้นหาผ่านทาง Search Engine สูงที่สุดเป็นลำดับแรก มีสัดส่วนอยู่ที่ 59.8% และทำการค้นหาแบรนด์ผ่าน Social Media เป็นลำดับถัดมา โดยมีอัตราส่วนการค้นพบแบรนด์อยู่ที่ 55.5% ตามมาด้วยการค้นพบผ่าน Mobile App ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 49.4% ส่วนการค้นหาแบรนด์ผ่านการรีวิวของลูกค้า มีสัดส่วนอยู่ที่ 40.9% และค้นพบแบรนด์จากเว็บไซต์ที่นำเสนอการเปรียบเทียบราคาของสินค้าเป็นลำดับถัดมา โดยมีอัตราส่วนการค้นหาอยู่ที่ 39.8%
มูลค่าของโฆษณาบนสื่อ Digital ของไทยทั้งหมดในปีที่ผ่านมา คือ 767.8 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าของการโฆษณาในการค้นหาออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 280 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และลำดับถัดมาคือการโฆษณาผ่าน Social Media ซึ่งพบมูลค่าที่ใช้ในการโฆษณาจำนวน 193.2 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
และในส่วนของอัตราการเติบโตของมูลค่าที่ใช้ในการโฆษณา Digital ในภาพรวม พบว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 8.4% และช่องทางที่มีมูลค่าการเติบโตสูงที่สุดคือ การโฆษณาในรูปแบบการค้นหาออนไลน์ โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 17.4% และอัตราการเติบโตลำดับถัดมาของมูลค่าที่ใช้ในการโฆษณาคือ การโฆษณาในรูปแบบ Video Ads ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น 10.7% และในส่วนของการโฆษณาผ่านช่องทาง Social Media มีการเติบโตสูงสุดเป็นลำดับที่ 3 โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจำนวน 8%
และข้อมูลทั้งหมดนี้ก็เป็นภาพรวมของสถิติการใช้งาน Digital ของคนไทยประจำปี 2021 นี้ โดยท่านใดที่ต้องการดาวน์โหลดรายงานสถิติการใช้งาน Digital ของไทย ปี 2021 ฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่ Digital 2021 : Thailand ค่ะ